Custom Search
 

วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย จ.กรุงเทพฯ



     วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานอีกแห่งหนึ่งของไทย มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางหว้าใหญ่” ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และยังได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยรัชกาลต่าง ๆ เป็นระยะ มีปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่นพระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก จนปรากฎว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา

 

 วัดระฆังโฆสิตาราม_29 วัดระฆังโฆสิตาราม_8 วัดระฆังโฆสิตาราม_14 วัดระฆังโฆสิตาราม_17
ท่าน้ำหน้าวัดระฆังโฆสิตาราม นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารปลาและนกพิราบ

 วัดระฆังโฆสิตาราม_11 วัดระฆังโฆสิตาราม_33 วัดระฆังโฆสิตาราม_13
เรือนำเที่ยวที่พาเที่ยววัดใกล้เคียง เช่นวัดอรุณราชวราราม และวัดกัลยาณมิตร

 วัดระฆังโฆสิตาราม_10 วัดระฆังโฆสิตาราม_31 วัดระฆังโฆสิตาราม_32 วัดระฆังโฆสิตาราม_30
แม่ค้าจำหน่ายปลาปล่อย และพระเจดีย์องค์ใหญ่ (ภาพที่สามจากซ้าย)


     พระอุโบสถ เป็นทรงแบบรัชกาลที่ ๑ หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง ๒ ช่อง แทนแผงแรคอสองเหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้มบนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก โดยผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพฝาผนังส่วนที่เหลือ เบื้องบนเขียนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ซึ่งเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาอ่อนช้อยและแสงสีเหมาะสมกับเรื่องราว ภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๕ ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น
     พระปรางค์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา) ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย พระปรางค์องค์นี้จัดเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา




 วัดระฆังโฆสิตาราม_37 วัดระฆังโฆสิตาราม_49 วัดระฆังโฆสิตาราม_47 วัดระฆังโฆสิตาราม_38
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง งานไม้แกะสลัก และเรือนโบราณภายในวัดระฆัง

 วัดระฆังโฆสิตาราม_39 วัดระฆังโฆสิตาราม_52 วัดระฆังโฆสิตาราม_40 วัดระฆังโฆสิตาราม_44
พระประธานยิ้มรับฟ้า (ภาพที่สองจากซ้าย) และตู้เก็บพระไตรปิฎก (ภาพที่สามจากซ้าย)


     ต้นโพธิ์ลังกา เป็นต้นโพธิ์พันธุ์ลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับมาในรัชสมัยของพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ ตามประวัติกล่าวว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นโพธิ์ที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ด้วยพระองค์เอง เป็นต้น

     นอกจากนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ได้เคยจำพรรษา(ภายในบริเวณวัดมีวิหารของสมเด็จโต) และเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้และสร้างความศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากมายมหาศาล จนปัจจุบันคำสั่งสอน และพระเครื่องของสมเด็จโตก็ยังเป็นที่จดจำไม่เสื่อมคลาย สำหรับท่านที่ทำบุญกันเรียบร้อย ก็สามารถมาทำทานบริเวณริมน้ำหน้าวัด ที่มีฝูงปลา และฝูงนกพิราบมารอคอยผู้ใจบุญซื้ออาหารเลี้ยง (สามารถซื้อได้จากในวัด) จากนั้นท่านจะนั่งเรือนำเที่ยวจากบริเวณนี้ไปเที่ยววัดอื่น ๆ หรือนั่งเรือข้ามฟากไปยังท่าช้างเพื่อไปท่องเที่ยวต่อก็สามารถทำได้ตามอัธยาศัย


การเดินทาง : วัดระฆังโฆสิิตารามวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ 250 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 19 ,57 ,83 ลงป้ายหน้าวัดระฆังฯ หรือ ทางเรือนั่งเรือด่วนขึ้นที่ท่าวังหลัง และมีเรือข้ามฟากจากท่าช้้าง มาวัดระฆังฯ ต้องการสอบถามเส้นทางรถเมล์ โทร 184 หรือคลิ๊กที่ลิ้งค์ ขสมก.
ข้อแนะนำ : เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 06.00 - 18.30 น. โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม 02-4112255 หรือ 02-4182729
ขอขอบคุณ : ข้อมูลการเดินทางจากหนังสือ “สะพายเป้ ขึ้นรถเมล์ ทัวร์กรุง” โดย รัตนวุฒิ เจริญรัมย์ สำนักพิมพ์อักษรข้าวสวย และข้อมูลของวัดจาก เว็บไซต์วัดระฆังโฆสิตาราม



สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
เขตพระนคร
 วัดบวรนิเวศวิหาร , วัดพระศรีรัตนศาสดาราม , วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
 วัดชนะสงคราม , วัดราชนัดดา , วัดสุทัศน์เทพวราราม , พระบรมมหารราชวัง
เขตธนบุรี
 วัดกัลยาณมิตร 
เขตดุสิต
 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เขตสัมพันธวงศ์
 วัดไตรมิตรวิทยาราม , เยาวราช (ไชน่าทาวน์) 
เขตบางกอกใหญ่
 วัดอรุณราชวราราม
เขตห้วยขวาง
 สยามนิรมิต


บัตรรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์มื้อค่ำ + ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อเรือ์” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของเรือบุฟเฟ่ต์แต่ละแบบโดยละเอียด)


โปรแกรมทัวร์อื่น ๆ ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อโปรแกรมทัวร์” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของโปรแกรมทัวร์แต่ละแบบโดยละเอียด)




แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)

ภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม (www.Thongteaw.com)
หากทำการคัดลอก หรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154